นักกีตาร์ทุกคนคงคุ้นเคยดีกับ Minor pentatonic scale ซึ่งเป็น minor scale ที่ประกอบด้วยโน๊ตเพียง 5 ตัว ตัวอย่างตามชาร์ตข้างล่างนี้ ซึ่งเป็นตัวอย่างของ B minor pentatonic;
ในกรณีที่เราจะเล่น scale นี้ในคีย์อื่น ก็เพียงเลื่อนตำแหน่งให้สูงขึ้น หรือต่ำลงเท่านั้น แต่ยังคงรูปแบบเดิมไว้
Minor pentatonic scale นี้ปรกตินักกีตาร์ทั่วไปจะเคยเล่นมาแล้ว และใช้บ่อยด้วย เพราะเป็น scale ง่ายๆที่ให้เสียงตรงไปตรงมา นิยมใช้ในเพลง country, rock, blues หรือ แม้แต่ในเพลงไทยทั่วๆไป
scale ง่ายๆที่ให้เสียงตรงไปตรงมาอันนี้ ที่จริงแล้วเราสามารถประยุกต์ใช้ในการอิมโพรไวส์ในเพลงแจ๊ส และทำให้ได้เสียงที่ซับซ้อนได้อย่างไม่น่าเชื่อเลยทีเดียว โดยเราจะเริ่มพบวิธีการใช้งานในลักษณะต่างๆต่อไปนี้ตั้งแต่สมัย จอห์น โคลเทรนเป็นต้นมา
เรามาดูกันเลยว่ามีวิธีการใช้ Minor pentatonic scale อย่างมีกึ๋นในเพลงแจ๊สได้อย่างไรบ้าง
1. ในคอร์ดไมเนอร์ (ในที่นี้จะใช้ Am7 เป็นตัวอย่าง)
ใน Am7 ปรกติเราจะใช้ A Minor pentatonic ในการเล่น ดังตัวอย่างข้างล่างนี้
ทีนี้ในการเล่นเพลงแจ๊ส เพื่อให้เกิดเสียงที่ซับซ้อนขึ้น วิธีการง่ายๆอันหนึ่งก็คือ ในระหว่างที่เล่น A Minor pentatonic อันเดิมอยู่นั้น เราสามารถแทรก B minor pentatonic เข้าไปในระหว่างกลางโดยการเลื่อนตำแหน่งนิ้วของ A Minor pentatonic นั้นขึ้นไป 2 ช่อง แล้วก็ขยับกลับมาจบที่ A Minor pentatonic ในตอนท้าย ดังตัวอย่างนี้
นอกจากนี้ ในการเล่นใน Am7 อันเดิมนั้น เราอาจจะเล่น A Minor pentatonic แล้วเลื่อนหนีออกไปให้สูงขึ้นครึ่งเสียง เป็น Bb minor pentatonic ชั่วคราว แล้วขยับกลับมาเป็น A Minor pentatonic อีกที เราก็จะได้เสียงที่ outside กว่าเดิมอีก ดังตัวอย่างนี้
ด้วยการเล่นใน concept เดียวกันนี้เอง จอห์น โคลเทรนจะเล่น Minor pentatonic scale โดยเลื่อนให้เสียงสูงขึ้นทีละ หนึ่งเสียงครึ่งไปเรื่อยๆ ซึ่งก็เป็นลักษณะเดียวกับที่เขาใช้ในเพลง Giant Steps นั่นเอง
2. ในคอร์ดเมเจอร์ (ในที่นี้จะใช้ Amaj7เป็นตัวอย่าง)
เราสามารถใช้แนวความคิดเดียวกันนี้กับการเล่นในคอร์ดที่เป็น major ได้เช่นกัน ตัวอย่างข้างล่างนี้ ในคอร์ด Amaj7 เราสามารถเล่น Minor pentatonic scale ที่ต่ำกว่า root ของคอร์ดนั้นครึ่งเสียงซึ่งก็คือ เล่น G# Minor pentatonic scale ลงบน Amaj7 นั่นเอง ซึ่งเราจะได้เสียง D# ซึ่งเป็นเสียง #4 ของ A Major scale เพิ่มขึ้นมา ซึ่งก็เปรียบเสมือนกับการเล่น A Lydian Mode นั่นเอง ซึ่งจากแนวความคิดนี้ จะเห็นได้ว่า เราสามารถเล่น A Lydian Mode ได้โดยที่ไม่ต้องรู้จักว่ามันคืออะไรเลยด้วยซ้ำไป
แนวความคิดในการเล่น scale และ mode ชนิดต่างๆบนคอร์ดต่างๆ แทนการเล่นด้วย bebop scale แบบเดิมๆ ก็เป็นที่มาของการเกิด modal jazz และ free jazz ซึ่งหมายถึงดนตรีเต็มไปด้วยอิสระในการเล่นเสียงนอกคีย์บนทางเดินคอร์ดเดิมๆ และสามารถนำไปสู่การเล่นในลักษณะ Atonal หรือ หลุดจากศูนย์กลางของเพลงได้ อย่างไรก็ตามในฟิวชั่นแจ๊สยุคใหม่ๆ เราก็ยังสามารถนำความคิดในลักษณะนี้มาสอดแทรกใช้ เพื่อให้การเล่นของเรา มีเสียงที่หลีกหนีไปจากเสียงเดิมๆในคอร์ดหรือในคีย์ที่เล่นอยู่ได้
จากตัวอย่างที่กล่าวมาทั้งหมดข้างบน จะเห็นได้ว่า จาก Minor pentatonic scale ซึ่งเป็นความรู้เดิมของนักกีตาร์แทบทุกคน ซึ่งส่วนใหญ่จะมีความเชื่อกันว่าเป็น สเกลพื้นๆที่ให้เสียงง่ายๆตรงไปตรงมา แต่เราสามารถนำมาประยุกต์ใช้ให้เกิดเสียงแจ๊สที่มีชั้นเชิงอย่างไม่น่าเชื่อเลยทีเดียว